Category สุขภาพ

กินเค็มไม่ดี เพราะอะไร

อาหารที่อร่อยคือต้องมีรสกลมกล่อม ทั้งหวาน เค็ม เปรี้ยว และเผ็ด แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าจะได้รสชาตินั้นต้องเติมเครื่องปรุงลงไปกี่ชนิด กี่ช้อน? และนอกจากรสชาติที่เราได้รับจากการกินแล้วร่างกายจะได้รับอะไรตามมาอีกบ้าง?
เคยแปลกใจบ้างไหมว่าทำไมบางคนกินอะไรก็ขาดเครื่องปรุงไม่ได้ ขอเติมน้ำตาลลงไปสัก 1 ช้อน ราดน้ำปลาลงไปอีกสัก 1 ช้อนครึ่ง โดยที่ยังไม่ได้ชิมก่อนเลยแม้แต่นิดเดียวว่าอาหารที่พร้อมเสิร์ฟมานั้นมีรสชาติอย่างไร ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าลิ้นของมนุษย์เรามีปุ่มรับรสเล็กๆ ที่เรียกว่า ปาปิลา (Papilla) จำนวนมาก ซึ่งปุ่มรับรสจะมีด้วยกัน 4 ชนิด คือ รสหวาน รสขม รสเปรี้ยว และรสเค็ม ซึ่งการรับรู้รสชาติเหล่านี้จะเป็นการกระตุ้นให้สมองประมวลผลรับรู้รสและจะสั่งให้ชอบอาหารนั้นๆ หรือเรียกว่าสมองเสพติดรสชาตินั่นเอง

ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นการทำงานของประสาทรับรสก็ยิ่งเสื่อมลงไม่ต่างกับอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งภาวะการสูญเสียการรับรู้รสจะพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุ จึงอย่าได้แปลกใจหากอาหารสุดอร่อยที่คุณตาคุณยายในบ้านเคยทำให้เมื่อตอนเราเด็ก พอกลับมาทานตอนโตจะรู้สึกว่าปรุงหนักและมีรสชาติจัดไปทางรสเค็ม นั่นก็เพราะพวกท่านรับรู้ว่านั่นคือรสชาติที่กำลังพอดี อันเนื่องมาจากภาวะสูญเสียการรับรสนั่นเอง

“เมื่อก้าวสู่การเป็นผู้สูงวัย นอกจากการรับรู้รสจะเสื่อมจากเดิมแล้ว ระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็เริ่มเสื่อม หากยิ่งไม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกินก็ยิ่งเพิ่มตัวเร่งความเสื่อมของอวัยวะอื่น ๆ ให้มาถึงเร็วขึ้น เพราะหากเลือกกินอาหารไม่เป็น กินอาหารที่เค็มจัด มีโซเดียมสูง ก็ยิ่งทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น” อาจารย์สง่า ดามาพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และที่ปรึกษาด้านโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ก่อนอาจารย์สง่า จะบอกต่อไปว่า โรคไตเป็นสิ่งที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตมนุษย์ เพราะคนที่เป็นโรคนี้ไม่ใช่แค่ต้องเสียเงินมหาศาลเพื่อไปล้างไต ฟอกไต แต่ยังเสียเวลา เสียสุขภาพจิต ซึ่งเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังเป็นภาระของครอบครัว ดังนั้นคนที่ไม่อยากเป็นโรคไตทั้งในวัยผู้สูงอายุ วัยทำงาน วัยหนุ่มสาว หรือวัยเด็ก จึงต้องใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองด้วยหลักง่ายๆ คือ

เลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารที่มีโซเดียมสูงไม่ใช่แค่เกลือกับน้ำปลา แต่ยังรวมถึงกะปิ ปลาร้า ผงชูรส ซีอิ๊ว ผงซุปก้อน ซอสปรุงรส ผงฟูที่อยู่ในขนมปังเบเกอรี่ต่าง ๆ และสารถนอมอาหารในอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบค่อน หมูยอ เป็นต้น

กินผักและผลไม้อย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 400 กรัม จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ระยะหนึ่ง

กินอาหารที่มีแคลอรี่น้อย

ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคไตไม่ใช่โรคที่เกิดจากการกินเกลือเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการกินโซเดียมเกินปริมาณตามความต้องการของร่างกายที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ในทุก ๆ วันคนเราไม่ควรกินโซเดียมเกิน 1 ช้อนชา หรือ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ในขณะที่คนไทยในวัยผู้ใหญ่ได้รับโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานกำหนดถึง 2 เท่า วันนี้ ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพไตมาฝาก

ลดเค็ม… ลดได้หลายโรค
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ได้กล่าวไว้ในวิดีโอ ลดเค็มลดหลายโรค ที่เผยแพร่ผ่านแชนแนล RAMA CHANNEL ทางยูทูป ไว้ว่า “การลดกินเค็มมีส่วนป้องกันโรคที่มีปัจจัยเกี่ยวกับการกินโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ซึ่งการลดปริมาณการกินเค็มจะทำให้อาการของโรคนั้น ๆ ดีขึ้น และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาว ส่วนใหญ่ปรุงรสเค็มอย่างเดียวก็ไม่อร่อย ต้องมีรสนัว กลมกล่อม ก็ต้องเติมน้ำตาลเพิ่ม ทำให้กินเค็มและหวานเกินเป็นต้นเหตุของการพ่วงทั้งโรคเบาหวานและโรคอ้วนตามมา ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่กินเค็มมากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตมากกว่าผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่กินเค็ม ดังนั้นเลี่ยงเค็มจึงสามารถป้องกันได้หลายโรค”

วิธีลดเค็มอย่างไรให้ได้ผล?
ที่คนเราชอบกินเค็ม กินหวาน เป็นเพราะความเคยชิน ดังนั้นจึงต้องค่อย ๆ ลดทีละน้อย ๆ จะทำให้ลิ้นค่อย ๆ ปรับความไวการรับรสได้ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ แนะนำการลดเค็มอย่างไรให้ได้ผลว่า ‘ควรลด 10%’ ในครั้งแรก และถัดไปอีกประมาณ 2 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน ให้ลดลงไปอีก 10% และอีก 1 เดือนต่อมาให้ลดลงอีก 10% วิธีนี้จะทำให้ลดสามารถลดเค็มได้ 30% ภายในระยะเวลา 3 เดือน และเป็นการลดเค็มที่เรายังมีความสุขกับการกินเหมือนเดิมแต่ร่างกายเคยชินกับการกินรสเค็มที่น้อยลง

6:1:1 เคล็ดลับกินดี ส่งตรงจาก อาจารย์สง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ
อาจารย์สง่า ได้แนะนำเคล็ดลับการกินอาหารสำหรับผู้สูงวัยให้ห่างไกลโรค คือ ผู้สูงอายุควรกินอาหารตามธรรมชาติผ่านการปรุงแต่งให้น้อยที่สุด เลือกข้าวกล้องแทนข้าวขาวเพราะจะมีสารอาหารมากกว่า กินเนื้อปลาสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง จะได้รับโปรตีนที่มีคุณภาพ สามารถกินไข่ได้วันละ 1 ฟอง โดยเน้นไปที่ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น (ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ควรลดเหลือสัปดาห์ละ 3-4 ฟอง) กินถั่วเมล็ดแห้ง ดื่มนมรสจืดหรือนมพร่องมันเนย 1 กล่อง หรือ 1 แก้วต่อวัน กินผักผลไม้เป็นประจำ ที่สำคัญต้องใช้สูตร ‘6:1:1’ คือ กินน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ก็จะทำให้เป็นผู้สูงอายุที่ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้มากมาย แถมสูตรนี้ยังได้ผลดีกับคนทุกวัยอีกด้วย

ความอ้วนส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมได้จริงหรือ?

โรคข้อเข่าเสื่อม

เป็นโรคที่ผิวข้อกระดูกอ่อนเกิดการสึกหรอ สึกกร่อน เกิดอาการอักเสบ ปวด บวมเเดงร้อนที่ข้อเข่า เข่าโก่ง สุดท้ายจะเจ็บเข่ามาก จนเดินไม่ได้ เราพบว่า โรคข้อเข่าเสื่อม นั้น มีปัจจัย มากมายหลายอย่างที่กระตุ้น ทำให้เป็น
โรคนี้เร็วขึ้น เเละมากขึ้น หนึ่งในนั้นที่คนไทยมีกันมาก ก็คือ ความอ้วนครับ

มีการวัดค่าความอ้วนได้หลายอย่าง

ซึ่งผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่า อย่างไร ถึงจะเรียกว่า อ้วน คุณน่าจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุด มีข้อมูลที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับความอ้วนหลายอย่าง โดยเฉพาะความอ้วนที่เกี่ยวข้องกับโรคข้อเข่าเสื่อม

ความอ้วนถูกจัดให้เป็นปัจจัยหนึ่งที่โดดเด่นที่ก่อให้โรคข้อเข่าเสื่อม

โดยเฉพาะในเพศหญิง ถ้ามีน้ำหนักตัวเกินด้วยเเล้วทำให้มีโอกาสเกิดโรคนี้ถึง 9 เท่า ความอ้วนนอกจากจะเป็นตัวเร่งให้เกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นในวัยหนุ่มสาวเล้วยังทำให้โรคลุกลามได้ไวมากขึ้นเเละยังมีผลทำให้ผลของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไม่ดีเท่าคนน้ำหนักปกติครับ

ในสมัยก่อน

เราอาจจะเข้าใจว่า สาเหตุของความอ้วนไม่ใช่อยู่ที่พฤติกรรมการทานอาหารที่ผิดปกติเท่านั้น เเต่ในปัจจุบันเราค้นพบว่า เกิดจากการถ่ายทอดตามกรรมพันธุ์เสียด้วย โดยเฉพาะมีมากกว่า 400 ยีนส์ที่เดียวครับ เเต่เป็นที่ยืนยันเเล้วว่า ยีนส์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นครับ

เวลาเดินในเเต่ละก้าว

จะมีเเรงที่มากดที่ข้อเข่าของคนอ้วนมากกว่าคนไม่อ้วนครับ นอกจากนั้นบางคนยังเชื่อว่า ข้อเข่าที่มีเนื้อเยื่อไขมันมากๆ จะล้นไปกดเเละทำลายผิวกระดุกอ่อนที่อยู่ใกล้ๆ กัน ทำให้ไปเร่งในการเป็นข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

เมื่อความอ้วนทำให้เป็นข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

ก็มีนักวิทยาศาสตร์คิดในทางตรงกันข้ามครับว่าถ้าเราลดน้ำหนักลงจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมดีขึ้น หรือไม่ ในปี 1997 มีนักวิทยาศาสตร์วิจัย เเเละพบว่า สำหรับเพศหญิงที่มี
ความสูงตามปกติทั่วไป ทุกๆ น้ำหนักตัวที่หายไป11 ปอนด์ หรือประมาณ
5 กิโล ความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะหายไปมากว่า 50% ทีเดียวครับ นอกจากนั้นยังพบว่า การลดน้ำหนักเพียงอย่างเดียว จะสามารถลดอาการปวดข้อเข่าได้ โดยไม่ต้องทานยาเเก้อักเสบที่มีผลข้างเคียง

ทุกๆ น้ำหนักตัวที่ลดลง 1 กิโล

จะไปลดน้ำหนักที่กดลงบนข้อเข่า 4 กิโลในเเต่ละก้าวที่เราก้าวเดินครับหรือลดลง 3000 กิโลกรัม ต่อการเดินไกล 1 กิโลเมตร ในเเต่ละวันคนเราอาจจะเดินถึงวันละ 1.5 กิโลเมตร นั่นก็หมายความว่าจะมีการลดเเรงกระเเทกที่หัวเข่าอย่างมากมายมหาศาลในคนที่สามารถลดน้ำหนัดลงเเค่ 1 กิโลกรัม

เเต่ในบางคนที่ลดน้ำหนักไม่ได้

ก็ไม่ต้องกลุ้มใจครับ เเต่ให้ใช้วิธีการควบคุม น้ำหนักตัวเเทน โดยพยายามควบคุมน้ำหนักตัวเเทนไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในเเต่ละปีครับส่วนคนที่น้ำหนักตัวเกินมาก เเละไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้ก็จำเป้นต้องเเก้ไข ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายหลายข้อทดเเทนกันครับ

ตัวอย่างเช่น

นักกีฬาซูโม่ ของญี่ปุ่น มีน้ำหนักมากมาย หลายร้อยกิโลครับ เวลาป่วยเป็นโรคเเต่ละครั้ง ก็จะไปพบเเพทย์ที่โรงพยาบาลที่ทางประเทศญี่ปุ่น จัดไว้ให้โดยเฉพาะที่คนทั่วไป ไม่มีสิทธิในการเข้าไปรักษา มีการรวบรวมสถิติทางการเเพทย์เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของนักกีฬาซูโม่ว่าเกี่ยวข้องกันกับน้ำหนักตัวที่มากมายมหาศาลหรือไม่พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่องครับ เช่น น้ำหนักตัวที่มากมายของซูโม่ไม่ได้ทำให้ ประชากรซูโม่นั้นมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อม มากกว่า คนทั่วไปทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ เพราะข้อมูลส่วนอื่นๆ ทั่วไป ล้วนบ่งชี้ว่าความอ้วนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้

ก็เพราะว่า ถึงเเม้ซูโม่ จะมีน้ำหนักตัวมากกว่าคนปกติเเต่กล้ามเนื่อข้อเข่าของซูโม่ ก็เเข็งเเรงมากกว่า คนปกติหลายเท่าด้วยกล้ามเนื้อที่เเข็งเเรงนี้ จึงไปชดเชยปัจจัยด้อยของน้ำหนักตัวที่มากเกินส่งผลทำให้ ไม่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าคนปกติครับ

ถ้าท่านมีกล้ามเนื้อรอบหัวเข่าไม่เเข็งเเรง

เเล้วยังคงตามใจปาก ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นทุกปีท่านก็อาจจะเป็นคนคนหนึ่งครับ ที่ต้องเสียเวลาในชีวิตเหลืออยู่ต่อสู้กับโรคข้อเข่าเสื่อมที่มาเร็วกว่า คนปกติโดยสุดท้ายก็อาจจะต้องถูกผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมโดยที่ไม่ทันตั้งตัวครับสบายกายคลายปวดเข่าครับ

เบาหวานกับความเชื่อผิดๆ

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

ความเชื่อ1: รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงทำให้เป็นเบาหวาน

ความจริง: โรคเบาหวานมี 2 ชนิดคือ เบาหวานประเภทที่1 (Diabetes Type1) เกิดจากสาเหตุพันธุกรรมและยังไม่ทราบปัจจัยแน่ชัดทำให้ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ เบาหวานประเภทที่ 2 (Diabetes Type2) เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีผลให้การสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายดื้อต่ออินซูลิน การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงเป็นเวลานานก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เป็นเบาหวานได้ หากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาเพียงพอ นอกจากนี้อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมีผลต่อการออกฤทธิของอินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีก็ควรหลีกเลี่ยง

ความเชื่อ2: เบาหวานเป็นโรคของคนแก่

ความจริง: โรคเบาหวานสามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงอายุ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคเบาหวาน เบาหวานประเภทที่ 1 ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็ก หรือคนอายุน้อย ส่วนเบาหวานประเภทที่ 2 ส่วนใหญ่มักเกิดในคนอายุ 45 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบคนเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 อายุน้อยลง

ความเชื่อ3: คนที่เป็นเบาหวานจะรู้ตัวหากมีน้ำตาลในเลือดต่ำ

ความจริง: อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ตัวเย็น เหงื่อออก อาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง ปากแห้ง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ อาการแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกัน จึงควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อมีอาการหรือสงสัยว่ามีน้ำตาลในเลือดต่ำ และรีบแก้ไขทันที เพราะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีผลให้เกิดภาวะช็อค หรือเสียชีวิตได้

ความเชื่อ4: เบาหวานเป็นโรคไม่น่ากลัว ใครๆก็เป็นกัน

ความจริง: เบาหวานเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยปีละประมาณ 20,000 คน นอกจากนี้เบาหวานเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และพบว่าคนที่เป็นโรคหัวใจและเป็นเบาหวานร่วมด้วย มีความเสี่ยงเกิดอาการหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่าเกือบสองเท่าของคนที่ไม่เป็นเบาหวานร่วมด้วย นอกจากนี้ หากการควบคุมเบาหวานไม่ดี ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่นตาบอด ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ เซลล์ประสาทถูกทำลาย

ความเชื่อ5: เป็นเบาหวานห้ามกินขนมหวาน หรืออาหารที่มีความหวาน

ความจริง: เพราะภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นผลให้เกิดเบาหวาน คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าควรงดอาหารที่มีความหวาน หรือมีน้ำตาล แต่อย่างไรก็ตาม หากรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกาย การรับประทานผลไม้ หรือขนมหวานก็ยังสามารถรับประทานได้แต่ไม่ควรมากเกินไป

ความเชื่อ6: เป็นเบาหวานห้ามให้เลือด

ความจริง: เป็นเบาหวานสามารถให้เลือดได้ ถ้าการควบคุมระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ผู้รับบริจาคโลหิตอีกครั้ง

ความเชื่อ7: เบาหวานเป็นโรคของคนอ้วน

ความจริง: ไม่ว่าคนอ้วนหรือคนผอมก็สามารถเป็นเบาหวานได้ เพราะเบาหวานเกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารมีแคลอรี่สูง น้ำตาลสูง และไม่ออกกำลังกาย ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลให้เกิดเบาหวานได้แต่พบว่าคนอ้วนเป็นเบาหวานมากกว่า เนื่องจากพฤติกรรมการกิน และการวิจัยพบว่าในคนอ้วนส่วนใหญ่ระดับการผลิตอินซูลินปกติ หรือมากกว่าปกติ แต่เซลล์ในร่างกายมีผลดื้อต่ออินซูลิน

ความเชื่อ8: ในครอบครัวไม่มีใครเป็นโรคเบาหวาน เพราะฉนั้นเราจะไม่เป็นเบาหวาน

ความจริง: ปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวานประเภทที่ 2 ถึงแม้ว่าไม่มีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน แต่เราก็สามารถเป็นได้หากใช้พฤติกรรมไม่เหมาะสม

ความเชื่อ9: ถ้าเป็นเบาหวานต้องฉีดอินซูลิน แสดงว่าอาการแย่แล้ว

ความจริง: การรักษาโรคเบาหวาน มีเป้าหมายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน กรณีที่ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ใช้ยารับประทานแล้วยังไม่สามรถคุมระดับน้ำตาลได้ จึงจำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินร่วมด้วย

ความเชื่อ10: เป็นเบาหวานต้องรักษาด้วยอินซูลิน

ความจริง: การรักษาเบาหวานประเภทที่ 2 สามารถป้องกัน ควนคุมโรคได้ด้วย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกสัดส่วน การออกกำลังกาย และรับประทานยาร่วมด้วยแต่หากยังไม่สามรถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเกณฑ์ จึงมีการใช้อินซูลินร่วมด้วย ส่วนเบาหวานประเภทที่ 1 เนื่องจากสาเหตุของพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกัน มีผลให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ จึงต้องรักษาโดยการให้อินซูลินเป็นหลัก

กินผักแล้วดีต่อสุขภาพ

5 ผักไดเอท ลดพุง สลายไขมันหน้าท้อง

WE FITNESS SOCIETY มาเนะนำการกินพืชผักบางชนิดที่มีสรรพคุณช่วยสลายไขมันจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ส่วนผักสลายไขมัน ลดการเกินโรคร้ายได้มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

•มะเขือเทศ

มะเขือเทศ หลายคนคงรู้ดีว่าสารไลโคปีนในมะเขือเทศเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมาก สามารถลดระดับของคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด กระตุ้นการเผาผลาญ ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น

• กระเทียม

มีสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มไขมันชนิดดีให้สูงขึ้น โดยสารที่ชื่อว่าอัลลิซิน นอกจากเป็นผักสมุนไพรช่วยสลายไขมันในเลือดได้ยังช่วยลดความดันโลหิต ป้องกันโรคหัวใจ

• ขิงเเละข่า

ในการศึกษาถึงฤทธิ์ทางยาของขิงพบว่า สามารถลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอไรด์ ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ช่วยควบคุมระดับของไขมันได้ดี

• ผักกาดหอม

รวมถึงผักโขม กะหล่ำปลี บรอกโคลี ผักเคล หรือผักใบเขียวทั้งหลาย อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ปริมาณเส้นใยอาหารสูงซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับไขมันออกจากร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลงได้จริง

• พริก

จริงๆ แล้วด๊อกเตอร์ออซแนะนำเมนู Pico de Gallo ที่เป็นเมนูเม็กซิกัน แต่ส่วนประกอบสำคัญของเมนูนี้ คือมะเขือเทศ หอม พริก มะนาว ผักชี และเครื่องปรุงอื่นๆ เช่น เกลือ พริกไทย ฯลฯ แต่เราขอแนะนำเป็นพริกแทนดีกว่า เพราะสำหรับชาวไทยแล้ว พริกเป็นอะไรที่คุ้นเคยกับลิ้นของพวกเรามาก โดยเฉพาะพริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า รวมไปถึงพริกฝรั่งอย่างพริกหยวก คงไม่ต้องบอกว่าเราจะปรุงพริกทานกันยังไง เพียงแต่ใครที่หมอสั่งห้ามทานอาหารรสจัด ก็เพลาๆ มือหน่อยเท่านั้นค่ะ

ว่าแล้วก็เข้าครัวทำอาหารทานกันเลยดีกว่า ใช้ส่วนผสมเหล่านี้ได้หมดทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ทานตามนี้แล้วก็อย่าลืมออกกำลังกายกันด้วยค่ะ

ออกกำลังกายผิดวิธี ทำร้ายกระดูก

          กระดูกเป็นส่วนที่สำคัญของร่างกายที่มีความแข็งแรงรองรับสรีระของร่างกายในการทรงตัว และทำกิจกรรมเคลื่อนไหวต่างๆ แต่หากขาดการดูแลเอาใจใส่ก็สามารถที่จะประสบกับภาวะเปราะบางนำมาซึ่งโรคมวลกระดูกเสื่อม หรือโรคกระดูกพรุน กลายเป็นภัยเงียบที่เราทุกคนคาดไม่ถึงได้เหมือนกัน


เสริมความแข็งแรง… ให้กระดูกและกล้ามเนื้อ

  • การออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อแต่การออกกำลังกายแบบไหนที่เหมาะสมกับเราที่สุด ที่จะไม่ทำให้กระดูกของเราสึกหรอ หรือบาดเจ็บ ซึ่งจริง ๆ แล้วการออกกำลังกายนั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ ที่เน้นพัฒนาระบบไหลเวียนหัวใจและปอด resistance exercise การออกกำลังกายที่เน้นเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การยกน้ำหนักหรือเล่นเวท flexibility exercise การออกกำลังกายที่เน้นความยืดหยุ่นของร่างกาย เช่น โยคะ พิลาทิส แต่การออกกำลังกายแบบ weight-bearing exercise หรือการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักเช่น รํามวยจีน เต้นรํา วิ่งเหยาะๆ ที่เน้นการเคลื่อนไหวช้า ๆ แต่ลงน้ำหนักนั้น จะช่วยป้องกันการสูญเสียกระดูกได้ดีที่สุด เหมาะกับคนที่ต้องการดูแลกระดูกให้แข็งแรงและลดความเสี่ยงของโรคกระดูกเสื่อมเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังทําให้กล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย

ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก… ตัวช่วยอัพความแข็งแรงของกระดูก

  • การเดิน เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย และมีการศึกษายืนยันถึงประโยชน์ การเดินออกกำลังกายบนสายพานก็สามารถเพิ่มมวลกระดูกได้เช่นกัน
    การวิ่งเหยาะ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อเข่าหรือข้อสะโพกเสื่อม เนื่องจากมีน้ำหนักตกลงที่ข้อเข่า/ข้อสะโพกมากกว่าการเดิน 1-2 เท่า
    การรำมวยจีนช่วยลดการสูญเสียของมวลกระดูก ช่วยเพิ่มการทรงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาส่วนหน้า และช่วยลดอาการปวดเข่าในผู้ป่วยเข่าเสื่อมได้อีกด้วย
    การยกน้ำหนักจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกและความแข็งแรงเฉพาะส่วน แนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนักแขน เพื่อให้น้ำหนักผ่านข้อมือ กระดูกสันหลัง รวมไปถึงกระดูกสะโพก

นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ พร้อมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพกระดูกที่แข็งแรง ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บด้วยเช่นกัน