Archive กันยายน 2019

กินเค็มไม่ดี เพราะอะไร

อาหารที่อร่อยคือต้องมีรสกลมกล่อม ทั้งหวาน เค็ม เปรี้ยว และเผ็ด แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าจะได้รสชาตินั้นต้องเติมเครื่องปรุงลงไปกี่ชนิด กี่ช้อน? และนอกจากรสชาติที่เราได้รับจากการกินแล้วร่างกายจะได้รับอะไรตามมาอีกบ้าง?
เคยแปลกใจบ้างไหมว่าทำไมบางคนกินอะไรก็ขาดเครื่องปรุงไม่ได้ ขอเติมน้ำตาลลงไปสัก 1 ช้อน ราดน้ำปลาลงไปอีกสัก 1 ช้อนครึ่ง โดยที่ยังไม่ได้ชิมก่อนเลยแม้แต่นิดเดียวว่าอาหารที่พร้อมเสิร์ฟมานั้นมีรสชาติอย่างไร ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าลิ้นของมนุษย์เรามีปุ่มรับรสเล็กๆ ที่เรียกว่า ปาปิลา (Papilla) จำนวนมาก ซึ่งปุ่มรับรสจะมีด้วยกัน 4 ชนิด คือ รสหวาน รสขม รสเปรี้ยว และรสเค็ม ซึ่งการรับรู้รสชาติเหล่านี้จะเป็นการกระตุ้นให้สมองประมวลผลรับรู้รสและจะสั่งให้ชอบอาหารนั้นๆ หรือเรียกว่าสมองเสพติดรสชาตินั่นเอง

ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นการทำงานของประสาทรับรสก็ยิ่งเสื่อมลงไม่ต่างกับอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งภาวะการสูญเสียการรับรู้รสจะพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุ จึงอย่าได้แปลกใจหากอาหารสุดอร่อยที่คุณตาคุณยายในบ้านเคยทำให้เมื่อตอนเราเด็ก พอกลับมาทานตอนโตจะรู้สึกว่าปรุงหนักและมีรสชาติจัดไปทางรสเค็ม นั่นก็เพราะพวกท่านรับรู้ว่านั่นคือรสชาติที่กำลังพอดี อันเนื่องมาจากภาวะสูญเสียการรับรสนั่นเอง

“เมื่อก้าวสู่การเป็นผู้สูงวัย นอกจากการรับรู้รสจะเสื่อมจากเดิมแล้ว ระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็เริ่มเสื่อม หากยิ่งไม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกินก็ยิ่งเพิ่มตัวเร่งความเสื่อมของอวัยวะอื่น ๆ ให้มาถึงเร็วขึ้น เพราะหากเลือกกินอาหารไม่เป็น กินอาหารที่เค็มจัด มีโซเดียมสูง ก็ยิ่งทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้น” อาจารย์สง่า ดามาพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และที่ปรึกษาด้านโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ก่อนอาจารย์สง่า จะบอกต่อไปว่า โรคไตเป็นสิ่งที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตมนุษย์ เพราะคนที่เป็นโรคนี้ไม่ใช่แค่ต้องเสียเงินมหาศาลเพื่อไปล้างไต ฟอกไต แต่ยังเสียเวลา เสียสุขภาพจิต ซึ่งเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังเป็นภาระของครอบครัว ดังนั้นคนที่ไม่อยากเป็นโรคไตทั้งในวัยผู้สูงอายุ วัยทำงาน วัยหนุ่มสาว หรือวัยเด็ก จึงต้องใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองด้วยหลักง่ายๆ คือ

เลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารที่มีโซเดียมสูงไม่ใช่แค่เกลือกับน้ำปลา แต่ยังรวมถึงกะปิ ปลาร้า ผงชูรส ซีอิ๊ว ผงซุปก้อน ซอสปรุงรส ผงฟูที่อยู่ในขนมปังเบเกอรี่ต่าง ๆ และสารถนอมอาหารในอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบค่อน หมูยอ เป็นต้น

กินผักและผลไม้อย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 400 กรัม จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ระยะหนึ่ง

กินอาหารที่มีแคลอรี่น้อย

ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคไตไม่ใช่โรคที่เกิดจากการกินเกลือเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการกินโซเดียมเกินปริมาณตามความต้องการของร่างกายที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ในทุก ๆ วันคนเราไม่ควรกินโซเดียมเกิน 1 ช้อนชา หรือ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ในขณะที่คนไทยในวัยผู้ใหญ่ได้รับโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานกำหนดถึง 2 เท่า วันนี้ ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพไตมาฝาก

ลดเค็ม… ลดได้หลายโรค
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ได้กล่าวไว้ในวิดีโอ ลดเค็มลดหลายโรค ที่เผยแพร่ผ่านแชนแนล RAMA CHANNEL ทางยูทูป ไว้ว่า “การลดกินเค็มมีส่วนป้องกันโรคที่มีปัจจัยเกี่ยวกับการกินโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ซึ่งการลดปริมาณการกินเค็มจะทำให้อาการของโรคนั้น ๆ ดีขึ้น และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาว ส่วนใหญ่ปรุงรสเค็มอย่างเดียวก็ไม่อร่อย ต้องมีรสนัว กลมกล่อม ก็ต้องเติมน้ำตาลเพิ่ม ทำให้กินเค็มและหวานเกินเป็นต้นเหตุของการพ่วงทั้งโรคเบาหวานและโรคอ้วนตามมา ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่กินเค็มมากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตมากกว่าผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่กินเค็ม ดังนั้นเลี่ยงเค็มจึงสามารถป้องกันได้หลายโรค”

วิธีลดเค็มอย่างไรให้ได้ผล?
ที่คนเราชอบกินเค็ม กินหวาน เป็นเพราะความเคยชิน ดังนั้นจึงต้องค่อย ๆ ลดทีละน้อย ๆ จะทำให้ลิ้นค่อย ๆ ปรับความไวการรับรสได้ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ แนะนำการลดเค็มอย่างไรให้ได้ผลว่า ‘ควรลด 10%’ ในครั้งแรก และถัดไปอีกประมาณ 2 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน ให้ลดลงไปอีก 10% และอีก 1 เดือนต่อมาให้ลดลงอีก 10% วิธีนี้จะทำให้ลดสามารถลดเค็มได้ 30% ภายในระยะเวลา 3 เดือน และเป็นการลดเค็มที่เรายังมีความสุขกับการกินเหมือนเดิมแต่ร่างกายเคยชินกับการกินรสเค็มที่น้อยลง

6:1:1 เคล็ดลับกินดี ส่งตรงจาก อาจารย์สง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ
อาจารย์สง่า ได้แนะนำเคล็ดลับการกินอาหารสำหรับผู้สูงวัยให้ห่างไกลโรค คือ ผู้สูงอายุควรกินอาหารตามธรรมชาติผ่านการปรุงแต่งให้น้อยที่สุด เลือกข้าวกล้องแทนข้าวขาวเพราะจะมีสารอาหารมากกว่า กินเนื้อปลาสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง จะได้รับโปรตีนที่มีคุณภาพ สามารถกินไข่ได้วันละ 1 ฟอง โดยเน้นไปที่ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น (ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ควรลดเหลือสัปดาห์ละ 3-4 ฟอง) กินถั่วเมล็ดแห้ง ดื่มนมรสจืดหรือนมพร่องมันเนย 1 กล่อง หรือ 1 แก้วต่อวัน กินผักผลไม้เป็นประจำ ที่สำคัญต้องใช้สูตร ‘6:1:1’ คือ กินน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ก็จะทำให้เป็นผู้สูงอายุที่ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้มากมาย แถมสูตรนี้ยังได้ผลดีกับคนทุกวัยอีกด้วย

เคล็ดลับดูแลตับให้แข็งแรงด้วยวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตับโดยเฉพาะ

นอนไม่ค่อยหลับ ตับผิดปกติ ?

 

อาการนอนไม่ค่อยหลับมักอาจเกิดได้กับหลายๆบุคคล ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากไม่คุ้นชินสถานที่ หรือมีมลภาวะรบกวน นอนไม่หลับเพราะความเครียดหรือคิดมาก วิตกกังวลกับเรื่องใดๆอยู่ อาการเหล่านี้อาจจะทำให้เสียสุขภาพได้ในเบื้องต้น แตกหาก มีอาการหลับไม่สนิท ตื่นมางัวเงีย มีอาการเพลียระหว่างวัน  อาจจะเข้าข่าย “ตับพัง”

 

การง่วงนอนนั้นมาจากสารเคมีในร่างกายที่กำลังเริ่มทำงานโดยชื่อว่า เมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีความมืดเป็นตัวกระตุ้นทำให้ระดับของเมลาโทนินสูงขึ้นมากกว่าปกติในเวลากลางคืน เมื่อสารชนิดนี้เริ่มทำงานแล้ว ส่งผลให้ระดับหัวใจของเราเต้นช้าลง กล้ามเนื้อต่างๆเริ่มผ่อนคลาย เริ่มหายใจแผ่ว มีอาการง่วงนั่นคือกำลังตกอยู่นสภาพวันนอนหลับ นั่นเอง

 

จากการศึกษาพบว่า ระดับเมลาโทนินนั้นจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงกลางวันเนื่องจากผู้ป่วย มีการทำงานผิดปกติของตับ แต่ถ้าหากง่วงในเวลากลางคืน การขจัดเมลาโทนินก็จะถูกขจัดไปตรงตามช่วงเวลานาฬิกาชีวิต ตอนกลางคืนหลับสนิท ในระหว่างวันก็จะไม่มีอาการง่วงหรืออ่อนเพลีย

 

เคล็ดลับดูแลตับให้แข็งแรง สำหรับสารที่จะช่วยในการขับสารพิษที่เรารู้จักกันดีนั่นก็คือสาร กลูต้าไธโอน หรือที่เรียกกันว่า สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่กำจัดสารพิษออกจากตับ หากได้รับกลูต้าไธโอนในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะสามารถขับไล่สารพิษต่าง ๆในตับ ทำให้ตับทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ร่างกายมีสุขภาพดี ตับขับสารพิษจากร่างกายได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นหากเราได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ อวัยวะต่างๆภายในก็จะทำงานได้เป็นปกติ ระบบการทำงานภายในของเรามักจะเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด หากขาดอวัยวะชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งไปก็จะส่งผลให้เราไม่สามารถประกอบกิจกรรมในแต่ละวันได้ ดังนั้นการนอนหลับให้เป็นเวลาถือเป็นการช่วยรักษาสุขภาพจากภายในสู่ภายนอก ช่วยให้ดูสดใส และอวัยวะต่างๆทำงานได้อย่างครบถ้วน

ความอ้วนส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมได้จริงหรือ?

โรคข้อเข่าเสื่อม

เป็นโรคที่ผิวข้อกระดูกอ่อนเกิดการสึกหรอ สึกกร่อน เกิดอาการอักเสบ ปวด บวมเเดงร้อนที่ข้อเข่า เข่าโก่ง สุดท้ายจะเจ็บเข่ามาก จนเดินไม่ได้ เราพบว่า โรคข้อเข่าเสื่อม นั้น มีปัจจัย มากมายหลายอย่างที่กระตุ้น ทำให้เป็น
โรคนี้เร็วขึ้น เเละมากขึ้น หนึ่งในนั้นที่คนไทยมีกันมาก ก็คือ ความอ้วนครับ

มีการวัดค่าความอ้วนได้หลายอย่าง

ซึ่งผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่า อย่างไร ถึงจะเรียกว่า อ้วน คุณน่าจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุด มีข้อมูลที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับความอ้วนหลายอย่าง โดยเฉพาะความอ้วนที่เกี่ยวข้องกับโรคข้อเข่าเสื่อม

ความอ้วนถูกจัดให้เป็นปัจจัยหนึ่งที่โดดเด่นที่ก่อให้โรคข้อเข่าเสื่อม

โดยเฉพาะในเพศหญิง ถ้ามีน้ำหนักตัวเกินด้วยเเล้วทำให้มีโอกาสเกิดโรคนี้ถึง 9 เท่า ความอ้วนนอกจากจะเป็นตัวเร่งให้เกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นในวัยหนุ่มสาวเล้วยังทำให้โรคลุกลามได้ไวมากขึ้นเเละยังมีผลทำให้ผลของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไม่ดีเท่าคนน้ำหนักปกติครับ

ในสมัยก่อน

เราอาจจะเข้าใจว่า สาเหตุของความอ้วนไม่ใช่อยู่ที่พฤติกรรมการทานอาหารที่ผิดปกติเท่านั้น เเต่ในปัจจุบันเราค้นพบว่า เกิดจากการถ่ายทอดตามกรรมพันธุ์เสียด้วย โดยเฉพาะมีมากกว่า 400 ยีนส์ที่เดียวครับ เเต่เป็นที่ยืนยันเเล้วว่า ยีนส์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นครับ

เวลาเดินในเเต่ละก้าว

จะมีเเรงที่มากดที่ข้อเข่าของคนอ้วนมากกว่าคนไม่อ้วนครับ นอกจากนั้นบางคนยังเชื่อว่า ข้อเข่าที่มีเนื้อเยื่อไขมันมากๆ จะล้นไปกดเเละทำลายผิวกระดุกอ่อนที่อยู่ใกล้ๆ กัน ทำให้ไปเร่งในการเป็นข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

เมื่อความอ้วนทำให้เป็นข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

ก็มีนักวิทยาศาสตร์คิดในทางตรงกันข้ามครับว่าถ้าเราลดน้ำหนักลงจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมดีขึ้น หรือไม่ ในปี 1997 มีนักวิทยาศาสตร์วิจัย เเเละพบว่า สำหรับเพศหญิงที่มี
ความสูงตามปกติทั่วไป ทุกๆ น้ำหนักตัวที่หายไป11 ปอนด์ หรือประมาณ
5 กิโล ความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจะหายไปมากว่า 50% ทีเดียวครับ นอกจากนั้นยังพบว่า การลดน้ำหนักเพียงอย่างเดียว จะสามารถลดอาการปวดข้อเข่าได้ โดยไม่ต้องทานยาเเก้อักเสบที่มีผลข้างเคียง

ทุกๆ น้ำหนักตัวที่ลดลง 1 กิโล

จะไปลดน้ำหนักที่กดลงบนข้อเข่า 4 กิโลในเเต่ละก้าวที่เราก้าวเดินครับหรือลดลง 3000 กิโลกรัม ต่อการเดินไกล 1 กิโลเมตร ในเเต่ละวันคนเราอาจจะเดินถึงวันละ 1.5 กิโลเมตร นั่นก็หมายความว่าจะมีการลดเเรงกระเเทกที่หัวเข่าอย่างมากมายมหาศาลในคนที่สามารถลดน้ำหนัดลงเเค่ 1 กิโลกรัม

เเต่ในบางคนที่ลดน้ำหนักไม่ได้

ก็ไม่ต้องกลุ้มใจครับ เเต่ให้ใช้วิธีการควบคุม น้ำหนักตัวเเทน โดยพยายามควบคุมน้ำหนักตัวเเทนไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในเเต่ละปีครับส่วนคนที่น้ำหนักตัวเกินมาก เเละไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้ก็จำเป้นต้องเเก้ไข ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายหลายข้อทดเเทนกันครับ

ตัวอย่างเช่น

นักกีฬาซูโม่ ของญี่ปุ่น มีน้ำหนักมากมาย หลายร้อยกิโลครับ เวลาป่วยเป็นโรคเเต่ละครั้ง ก็จะไปพบเเพทย์ที่โรงพยาบาลที่ทางประเทศญี่ปุ่น จัดไว้ให้โดยเฉพาะที่คนทั่วไป ไม่มีสิทธิในการเข้าไปรักษา มีการรวบรวมสถิติทางการเเพทย์เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของนักกีฬาซูโม่ว่าเกี่ยวข้องกันกับน้ำหนักตัวที่มากมายมหาศาลหรือไม่พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่องครับ เช่น น้ำหนักตัวที่มากมายของซูโม่ไม่ได้ทำให้ ประชากรซูโม่นั้นมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อม มากกว่า คนทั่วไปทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ เพราะข้อมูลส่วนอื่นๆ ทั่วไป ล้วนบ่งชี้ว่าความอ้วนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้

ก็เพราะว่า ถึงเเม้ซูโม่ จะมีน้ำหนักตัวมากกว่าคนปกติเเต่กล้ามเนื่อข้อเข่าของซูโม่ ก็เเข็งเเรงมากกว่า คนปกติหลายเท่าด้วยกล้ามเนื้อที่เเข็งเเรงนี้ จึงไปชดเชยปัจจัยด้อยของน้ำหนักตัวที่มากเกินส่งผลทำให้ ไม่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าคนปกติครับ

ถ้าท่านมีกล้ามเนื้อรอบหัวเข่าไม่เเข็งเเรง

เเล้วยังคงตามใจปาก ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นทุกปีท่านก็อาจจะเป็นคนคนหนึ่งครับ ที่ต้องเสียเวลาในชีวิตเหลืออยู่ต่อสู้กับโรคข้อเข่าเสื่อมที่มาเร็วกว่า คนปกติโดยสุดท้ายก็อาจจะต้องถูกผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมโดยที่ไม่ทันตั้งตัวครับสบายกายคลายปวดเข่าครับ